Thursday 21 April 2011

ผลิตภัณฑ์ผึ้ง

 
ผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีคุณประโยชน์มาก ในด้านทางการเกษตรต้องอาศัยผึ้งเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรพืชพรรณไม้ให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นการนำผึ้งมาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมได้ผลิตภัณฑ์จากผึ้งได้แก่   น้ำผึ้ง  เกสรผึ้ง  โปรโปลิส  โรยัล  เยลลี  ไขผึ้ง  และพิษผึ้ง   ซึ่งมีคุณค่ามาก   และสามารถนำไปแปรูปได้หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต

ผลิตภัณฑ์จากรังผึ้ง  แยกเป็น  2  กลุ่ม

     1.  ผลิตภัณฑ์ซึ่งผึ้งนำเข้ารังจากวัตถุดิบภายนอก
               -  น้ำผึ้ง  (honey)
               -  เกสรผึ้ง  (bee  pollen)
               -  โปรโปลิส  (propolis)

     2.  ผลิตภัณฑ์ซึ่งผึ้งสร้างขึ้นภายในตัวผึ้ง
               -  โรยัล  เยลลี  (royal  jelly)
               -  ไขผึ้ง  (beeswax)
               -  พิษผึ้ง  (bee  venom)


1. ผลิตภัณฑ์ซึ่งผึ้งนำเข้ารังจากวัตถุดิบภายนอก  

น้ำผึ้ง  (Honey) 

น้ำผึ้ง  คือ  ของเหลวรสหวาน  ซึ่งผึ้งงานเก็บรวบรวมน้ำหวานจากดอกไม้  (nectar)  หรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้  และ/หรือน้ำหวาน  (ho-ney  dew)  จากแมลงจำพวกเพลี้ยที่เก็บสะสมไว้นำมามาผ่านกระบวนการทางเคมีและกายภาพของผึ้งแปรรูปเป็นน้ำผึ้งแล้วเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นอาหารภายในรวงรังผึ้ง  น้ำผึ้งจะมีสี  กลิ่น  รส  และลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันไปตามชนิดของพืชที่ผึ้งไปเก็บน้ำหวานมาทำเป็นน้ำผึ้ง

ลักษณะของน้ำผึ้งที่ดี
  •  เป็นของเหลวข้น
  •  เป็นเนื้อเดียวกันปราศจากสิ่งแปลกปลอม
  •  มีสีธรรมชาติต้งแต่สีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาล
  •  มีกลิ่นและรสตามธรรมชาติปราศจากกลิ่น  รส  ที่น่ารังเกียจอื่นใด
  •  ต้องไม่มีกลิ่นบูดเปรี้ยวหรือมีฟอง
ส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง   มีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท   น้ำตาลที่แปรสภาพ    คือ   น้ำตาลกลูโคสกับฟรุคโตสที่ให้พลังงานสูง   มีส่วนประกอบของโปรตีน ไขมัน  วิตามิน  เกลือแร่  และสารอื่น ๆ  ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • คุณประโยชน์ของน้ำผึ้ง
  • คุณค่าทางอาหารใช้เป็นอาหารเสริม  เพิ่มพลังงานบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
  • คุณค่าทางยารักษาโรค  ใช้ผสมในการทำยารักษาโรคได้หลายชนิด  เช่น  ยาแก้ไอ  ยาแก้หลอดลมอักเสบ  เป็นต้น
เกสรผึ้ง  (bee  pollen)

เกสรผึ้ง  คือ  ละอองเกสรที่ผึ้งเก็บรวบรวมจากดอกไม้นานาชนิด  โดยปั้นเป็นก้อนกลมติดไว้ที่ขาคู่หลัง  แล้วนำกลับมาสะสมภายในรัง  เพื่อเป็นอาหารประเภทโปรตีน สำหรับเลี้ยงประชากรภายในรังผึ้ง  ผู้เลี้ยงผึ้งเก็บเกสรที่ผึ้งขนกลับรังนำมาแปรรูป  นิยมเรียกกันว่า  "เกสรผึ้ง"  ใช้เป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ส่วนประกอบของเกสรผึ้ง เกสรผึ้งประกอบด้วยอินทรีย์สารธรรมชาติ  ได้แก่  วิตามินหลายชนิด   คือ  วิตามินดี  วิตามินอี  วิตามินบี1, บี2, บี3,  และ  บี6  โปรตีน  กรดอะมิโน  ไขมัน  คาร์โบไฮเดรท  แร่ธาตุต่าง ๆ  และสารหลายชนิดทีเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อร่างกาย

คุณประโยชน์ของเกสรผึ้ง
  • ใช้เป็นอาหารเสริมสุขภาพ  บำรุงร่างกายให้แข็งแรงช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส
  • นำมาแปรรูปได้หลายรูปแบบ  เช่น  ในรูปเม็ดหรือแคปซูล  รับประทานสด  หรือนำมาทำแห้งเก็บไว้ใช้ได้นาน

โปรโปลิส  (propolis)

           โปรโปลิส   คือ  สารเหนียวคล้ายยางไม้มีสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ  ซึ่งผึ้งงานเก็บรวบรวมจากตาหรือเปลือกของต้นไม้  ผึ้งใช้โปรโปลิสอุดหน้าทางเข้ารังผึ้งลดขนาดรูเปิดรังให้มีขนาดพอดีเพื่อสะดวกในการดูแลป้องกันรังผึ้งจากศัตรูของผึ้งและใช้ในกิจกรรมภายในรังผึ้ง เช่น  อุดรอยแตกภายในรัง เคลือบรวงรังให้แข็งแรง  คลุมเคลือบไข่บาง ๆ   เคลือบเซลล์ตัวอ่อนผึ้ง   เพื่อให้ปลอดจากเชื้อโรค   ฉายทาเคลือบมันในรังผึ้งยึดติดคอนผึ้งให้แน่น  ไม่คลอดแคลน  พยึงส่วนต่าง ๆ  ในรังผึ้ง

ส่วนประกอบของโปรโปลิส

โปรโปลิส  ประกอบด้วยไขผึ้ง  สารเหนียว  น้ำมัน   และเกสร   มีส่วนประกอบทางเคมีหลายชนิด  เช่น   กรดวิตามิน   แร่ธาตุ   และสารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด  โดยเฉพาะ ฟลาโวนอยด์  (flavonoids)  มีการค้นพบว่า  สารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะ (antibiotic)  ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ผึ้งยังใช้โปรโปลิสในการป้องกันรักษาโรคของผึ้ง  เช่น โรคโนซีม่า  และโรคชอล์คบรูด   เป็นต้น

คุณประโยชน์ของโปรโปลิส
  • ใช้ในทางการแพทย์นำมาสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย  เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรคมนุษย์และสัตว์  ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส  ใช้ผสมเป็นยารักษาโรคทางหู  คอ  จมูก  รักษาโรคผิวหนัง
  • ใช้บรรเทาพิษที่เกิดจากผึ้งต่อย  โดยขูดสารออกจากคอนผึ้งมาละลายในแอลกอฮอล์   หรือน้ำมันมะกอก  เก็บไว้ใช้ทาเวลาถูกผึ้งต่อยจะบรรเทาอาการเจ็บปวดบวมได้
  • ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง

2. ผลิตภัณฑ์ซึ่งผึ้งสร้างขึ้นภายในตัวผึ้ง

โรยัล  เยลลี  (royal  jelly)

โรยัล  เยลล์  คือ  ของเหลวสีขาวลักษณะคล้ายครีมหรือนมข้นหวาน  ที่ผึ้งงานวัยอ่อน  (อายุระหว่าง  5 - 15  วัน) ลิตจากต่อมภายในส่วนหัว (hypo-pharyngeal  gland)  มีรสเปรี้ยวเผ็ด  และหวานเล็กน้อย  มีฤทธ์เป็นกรด ผึ้งงานใช้โรยัล  เยลลี  เป็นอาหารเลี้ยงตัวอ่อนผึ้งโดยเฉพาะตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นผึ้งแม่รัง (ผึ้งนางพญา)  จะได้รับโรยัล  เยลลี  ปริมาณมากตลอดอายุขัย   ทำให้ผึ้งแม่รังเติบโตอย่างรวดเร็ว  มีการพัฒนาทางสัณฐานวิทยาและสรีระแตกต่างจากผึ้งงานและผึ้งตัวผู้

ส่วนประกอบของ โรยัล  เยลลี

 โรยัล เยลลี  มีองค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ โดยเฉลี่ย  ดังนี้  น้ำ  66.05%  โปรตีน  12.35%  ไขมัน  5.46%  แร่ธาตุ  0.84%  โดยน้ำหนักที่เหลือเป็นส่วนประกอบอื่น ๆ  เช่นวิตามินหลายชนิดฮอร์โมน  เอนไซม์  และสารไขมันที่เป็นกรด 10  ไฮดรอกซี - 2 - ดีซีโนอิค  (10 - hydroxy - Decen
oic  acid)

คุณประโยชน์ของโรยัล  เยลลี

ผู้บริโภคในเอเชียบางประเทศ   เชื้อกันว่าโรยัล  เยลลี   มีคุณสมบัติด้านบำรุงกำลัง   ช่วยเสริมความงาม   จึงนิยมรับประทานเป็นอาหารเสริมเพื่อบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง

รังผึ้ง  1  รัง  ที่มีผึ้งงานมากกว่า  60,000  ตัว  สามารถผลิตโรยัล  เยลี   ได้เพียงวันละ 1.5 - 3.3  กรัม   ซึ่งปริมาณน้อยมาก  ในปัจจุบันจึงมีการผลิตเป็นการค้า

ไขผึ้ง  (beeswax)

ไขผึ้ง  หรือที่นิยมเรียกกันว่า ขี้ผึ้ง   เป็นสารที่ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด  ผลิตจากต่อมไข (wax  gland)  ซึ่งมีอยู่  4  คู่  ซ่อนอยู่ภายในปล้องท้องของผึ้งงาน  ผลิตไขผึ้งออกมาในรูปเกล็ดบาง ๆ  สีขาวเหมือนสีน้ำนม  ซึ่งผึ้งงานใช้ในการสร้าง  ซ่อมแซมและปิดฝาหลอดรวง ไขผึ้งบริสุทธิ์  มีกลิ่นคล้ายน้ำผึ้งเป็นของแข็ง  ลักษณะอ่อนนิ่ม  เป็นมัน  เมื่อหลอมเหลวจะกลับมีคุณสมบัติดังเดิมเมื่อเย็นตัว เมื่อเกิดการเผาไหม้ให้ควันน้อยปราศจากมลพิษ  ไขผึ้งอาจมีสารอื่น ๆ  เช่น  เกสร  โปรโปลิส  และน้ำผึ้งเจือปนด้วย ทำให้สีและความหนาแน่นแตกต่างกันไป

คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของไขผึ้ง
  • จุดหลอมเหลว  60 - 65  องศาเซลเซียส
  • สารที่ระเหยได้ทั้งหมดไม่เกิน  0.5  เปอร์เซ็นต์
  • ค่าของกรด  5 - 24
  • ค่าสะปอนิฟิเคชั่น 80 - 105
  • ค่าไอโอดีนไม่เกิน  10
  • ค่าเอสเทอร์  70 - 95
  • สารที่ไม่ละลายในเบนซินไม่เกิน  0.2
คุณประโยชน์ของไขผึ้ง
  • ทำแผ่นฐานรวงรังเทียมใช้ในการเลี้ยงผึ้ง
  • ทำเทียนจากไขผึ้งบริสุทธิ์  นิยมใช้ในทางศาสนา
  • ให้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
  • ใช้ในทางการแพทย์  และเภสัชกรรม

พิษผึ้ง  (bee  venom)

พิษผึ้ง  คือ  สารประกอบโปรตีนที่ผึ้งปล่อยออกมาจากต่อมสร้างพิษผ่านออกทางเหล็กในของผึ้งงาน  เมื่อเกิดขึ้นมาในระยะแรกนั้นยังสร้างพิษไม่ได้  แต่หลังจากอายุในช่วง  10 - 14  วัน  ปริมาณพิษผึ้งจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  และทำหน้าที่ในการป้องกันจากศัตรูองค์ประกอบทางเคมีของพิษผึ้งมีคุณค่าทางการแพทย์  เช่น  ฮีสตามีน (histamine)  เซอโรโทนิน  (serotonin)  โดพามีน  (dopamine)  ฯลฯ   และยังมีกรดอะมิโนและอนไซม์เป็นองค์ประกอบ เล็กน้อยในต่างประเทศมีผู้ใช้พิษผึ้งในทางการแพทย์  เช่น รักษาโรครูมาติซัม  เป็นต้น


จัดทำโดย:
กลุ่มงานผึ้งและแมลงอุตสาหกรรม
กองกีฏและสัตววิทยา

No comments:

Post a Comment