Saturday 4 June 2011

โอปอลออสเตรเลีย




 

ทุกเฉดสีของสายรุ้งปรากฏให้เห็นในโอปอล อัญมณีประจำชาติของออสเตรเลีย    แน่นอนว่าในตำนานของชาวอะบอริจิน สีสันอันคละเคล้าเหล่านั้นย่อมถูกสรรค์สร้างขึ้นเมื่อสายรุ้งสัมผัสผิวโลก  ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผลิตโอปอลมากถึง 95% ของโลก ทำให้อัญมณีอันงามอย่างสะกดใจนี้เป็นของที่ระลึกที่แสดงความเป็นออสเตรเลียอย่างแท้จริง   โอปอลของเรามีหลากชนิด นับจากชนิดธรรมดาที่สุดที่เป็นสีขาวหรือโอปอล “สีน้ำนม” ที่พบในเมือง Coober Pedy ไปจนถึงโอปอลดำจากเขต Lightning Ridge   เที่ยวแหล่งสายแร่โอปอลอันมีชื่อเสียง หรือซื้อโอปอลจากร้านขายโอปอลโดยเฉพาะซึ่งมีทั่วประเทศ

 เมืองสำคัญของออสเตรเลียทุกแห่งรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ล้วนมีร้านขายสินค้าเฉพาะอย่างซึ่งคุณสามารถซื้อเครื่องประดับโอปอลเป็นชุด หรือชิ้นเดี่ยว รวมถึงชนิดที่ยังไม่ได้เจียระไน   โอปอลดำมีมูลค่าสูงสุด รองลงมาได้แก่ โบลเดอร์โอปอลที่มีพื้นหลังเป็นสีเข้มตามหินที่ผลึกโอปอลเกาะ คริสตัลโอปอล และโอปอลขาว   การจัดอันดับมูลค่าขึ้นอยู่กับแนวคิดที่ว่ายิ่งอัญมณีมีสีเข้มมากเท่าใด ก็ยิ่งเปล่งสีสันได้สดใสขึ้นเท่านั้น แม้กระนั้น อัญมณีแต่ละเม็ดก็ยังแตกต่างกันไป

 สำหรับการผจญภัยในถิ่นโอปอล เยี่ยมแหล่งสายแร่โอปอลทั่วเขตชนบทห่างไกลในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย นิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์   แหล่งสายแร่โอปอลเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขต Great Artesian Basin ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลในแผ่นดินอันกว้างใหญ่   โอปอลสร้างชีวิตชีวาให้โลกใต้น้ำดึกดำบรรพ์แห่งนี้ด้วยสีฟ้าเขียวที่ใสกระจ่าง และสายแร่ที่ดูคล้ายแนวปะการัง   โอปอลยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “ไฟแห่งทะเลทราย” และมีการทำเหมืองโอปอลกันในเขตพื้นที่อันร้อนระอุที่สุดและไม่อำนวยต่อการอยู่อาศัยที่สุดของออสเตรเลีย  เวลาที่เหมาะที่สุดในการมาเยือนแหล่งสายแร่โอปอลอยู่ระหว่างเดือนเมษายนและเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศสบายกว่าเวลาอื่น

 Coober Pedy เมืองทำเหมืองของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย มีความประหลาดกว่าที่อื่นด้วยคนท้องถิ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใต้ดินเพื่อหลบความร้อนอันรุนแรงในช่วงฤดูร้อน  เข้าพักในโรงแรมที่สร้างไว้ใต้ดินและเยี่ยมชมบ้านเรือน โบสถ์และร้านค้าต่างๆ   ข้างบนดิน ชมเหมืองและแหล่งสายแร่โอปอล และการสาธิตวิธีตัดแร่โอปอล   เช่ารถโฟร์วีลขับเที่ยวหนึ่งวันไปยังเมืองที่มีเหมืองโอปอลอื่นๆ เช่น Andamooka, Mintabie และ Roxby Downs   แหล่งสายแร่โอปอลของรัฐเซาท์ออสเตรเลียเหล่านี้ผลิตโอปอลขาวหรือโอปอลสีน้ำนมรวมกันได้มากที่สุดในโลก


Black Opal
 

โอปอลดำเป็นสิ่งที่แสวงหากันมากที่สุดในโลก และมีการทำเหมืองอยูที่ Lightning Ridge ซึ่งอยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเกือบ 800 กม.    นักแสวงโชคได้มุ่งหน้ามาที่นี่นับแต่ทศวรรษที่ 1800 ในปัจจุบันที่นี่ยังเป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อแสวงหาประสบการณ์ในชนบทห่างไกล  เที่ยวชมเหมืองที่ Bald Hill ซื้อของที่ระลึกหรือเล่นกอล์ฟบนแหล่งที่เคยมีสายแร่โอปอล    พักผ่อนในสปาบ่อบาดาลที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เดินเที่ยวในภูมิประเทศอันเป็นหลุมเป็นบ่อ และส่องนก    เมืองแห่งนี้เป็นที่ซึ่งคุณจะได้ชม Black Opal Rodeo และการแข่งแพะในช่วงเทศกาลอีสเตอร์และงาน Lightning Ridge Opal Festival ในเดือนกรกฎาคม

 เส้นทางโอปอลพาคุณลัดเลี้ยวเข้าไปในแผ่นดินสู่เมือง White Cliffs ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพลุกพล่านแต่ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยคน   สำรวจทางเดินในเหมืองเก่าซึ่งคนท้องถิ่นใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงฤดูร้อน และชมคริสตัลโอปอลอันสุกใสซึ่งมีมูลค่าจากความแวววาวและความกระจ่างใสของสีสัน
 โบลเดอร์โอปอลที่มีพื้นหลังเป็นสีเข้มตามหินที่ผลึกโอปอลเกาะนั้นพบได้เฉพาะในควีนส์แลนด์ซึ่ง คุณสามารถตามหาได้จากเมืองอันห่างไกลโดยรอบ เช่น Quilpie, Yowah และ Opalton  ซื้อโอปอลดิบและที่เจียระไนแล้วที่งานเทศกาล Yowah Opal ในเดือนกรกฎาคม หรือเยี่ยมเมือง Opalton ที่ขุดพบโอปอลชิ้นใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาในปี 1899

 ตามล่าโอปอลในเขตชนบทห่างไกล หรือเลือกซื้อโอปอลของคุณที่ร้านค้าในเมือง   แต่ไม่ว่าด้วยวิธีใด อัญมณีที่โดดเด่นไม่เหมือนใครของออสเตรเลียจะเตือนให้คุณรำลึกถึงการผจญภัยในออสเตรเลียได้อย่างมีสีสัน
 
โอปอลเป็นแร่ชนิดหนึ่งในตระกูลควอทซ์ และที่พบในนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียนี้ จะเกิดแทรกอยู่ในหินชั้น และไม่เป็นผลึก โอปอลมีเนื้อพลอยเป็นซิลิกา และมีน้ำปะปนอยู่ ในปริมาณที่ไม่แน่นอนเท่าใดนัก ประมาณ 1 - 2% หรือ 6 - 10%

ในกลุ่มโอปอลมีค่า น้ำที่แทรกตัวอยู่นี้อาจจะระเหยไปโดยง่ายเมื่อได้รับความร้อน ซึ่งจะทำให้พลอยแตกและในที่สุดสีจะจางลง หรือความสุกใสที่เคยปรากฏก็จะหายไป หรือทั้งรังสีและความสุกใสจะสูญไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้โอปอลยังสามารถที่จะดูดซึมของเหลวทั้งหลายทั้งมวลได้

ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยควรเก็บรักษาโอปอลไว้ให้ห่างจากน้ำมัน และน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ให้มากที่สุด




เนื่องจากว่าโอปอลมีปริมาณ น้ำที่ไม่แน่นอน ปะปนอยู่ทำให้ทั้งน้ำหนัก (หรือความถ่วงจำเพาะ ซึ่งเท่ากับ 1.98 - 2.20) และความแข็ง (5.5 - 6.5 ตามโมห์สเกล) ของโอปอลแต่ละเม็ด แตกต่างกันออกไป ถ้ามีปริมาณน้ำมาก ในขณะที่โครงสร้างของเนื้อพลอย จับตัวกันอย่างหลวมๆ และจะทำให้ ทั้งน้ำหนัก และความแข็งลดน้อยลง ปริมาณน้ำในเนื้อพลอย ก็ยังมีผลต่อค่าดัชนีหักเห อีกด้วย ค่าดัชนีหักเห (1.44 - 1.46) จะสูง ถ้ามีน้ำปนอยู่มาก

และที่แตกต่างไปจากพลอยประเภทอื่นๆ ก็คือ โอปอล จะไม่มีรอยแตกแนวเรียบ (Cleavage) แต่มีรอยแตก ปรากฏเป็นรูปก้นหอย (Conchoidal Fracture) และเมื่อนำไปผ่านแสงอุลตร้าไวโอเลต ช่วงคลื่นสั้น จะเรืองแสงสีเขียว และจะแสดง คุณสมบัติโอปอลเลสเซนต์ (Opalescent) ให้เห็น คือจะมีสีออกน้ำนม และเหลือบสีคล้ายเปลือกมุก
   

สีของโอปอลเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าจะต้องสาธยายเรื่องการเกิดสี ของโอปอล ให้แจ่มกระจ่างละก็ น่ากล่าวถึง การจำแนกประเภท ของโอปอลเสียก่อนว่า มีอะไรบ้าง และต่างกันอย่างไร

โอปอลแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ โอปอลมีค่า (Precious Opal) และโอปอลธรรมดา (Common Opal) ซึ่งมีโครงสร้างต่างกัน จากการศึกษาโครงสร้าง ของโอปอล ภายใต้อีเลคตรอนไมโครสโคป พบว่าโครงสร้างของโอปอลมีค่านั้น ประกอบขึ้นจาก อานุภาคทรงกลม ซิลิกาขนาดเล็กๆ เท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกันมาก และเรียงตัวอย่างมีระเบียบ ส่วนโอปอลธรรมดานั้น มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ออกไปคือ อานุภาคซิลิกามีรูปร่างไม่แน่นอน ขนาดก็ไม่สม่ำเสมอ การเรียงตัวก็ไม่เป็นระเบียบอีกด้วย โครงสร้างที่ว่านี้ มีผลทำให้โอปอล ทั้งสองประเภท มีการเกิดสีที่ไม่เหมือนกัน

สีของโอปอลธรรมดา ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแสง เพราะการเรียงตัวของซิลิกา ที่ไม่เป็นระเบียบ หรืออนุภาคซิลิกาที่มีขนาดเล็กเกินไป (0.001 ซม.) จึงไม่สามารถทำให้ แสงสีขาว (แสงแดด) แตกตัว เป็นสีรุ้งได้ แต่การเกิดสีนั้น เกิดขึ้นเพราะมีมลทินแปลกปลอม แทรกอยู่ใน เนื้อพลอย มลทินแต่ละชนิด จะให้สีที่ต่างกัน เช่น ถ้ามีซินนาบา ปนอยู่โอปอลจะมีสีแดง ถ้ามีแร่ออร์พิเมนท์ แทรกอยู่จะให้สีส้มออกเหลือง ถ้ามีเหล็กออกไซด์ ปนอยู่โอปอลจะมีน้ำตาล หรือน้ำตาลแกมแดง และถ้ามีแมงกานีสออกไซต์ แทรกอยู่โอปอลจะมีสีดำ

ส่วนการเกิดสีของโอปอลมีค่านั้น ต่างกันลิบลับ กับการเกิดสีของโอปอลธรรมดา สีของโอปอลมีค่า ไม่ได้เกิดจากมลทิน แต่เกิดขึ้นเนื่องจาก การเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ ของอนุภาคทรงกลมซิลิกา จึงทำให้แสง ที่ตกกระทบนั้น แตกตัวเป็นสีรุ้งได้ เมื่อพลิกโอปอลมีค่า ไปมา จะเห็นประกายสี (Play of Colour) เป็นสีต่างๆ ขึ้นอยู่กับแสง ที่ตกกระทบ กับผิวโอปอล แสงสีขาว (แสงแดด) ที่ตกกกระทบลงบนผิว ของอนุภาคทรงกลมซิลิกาจะแตกตัวให้แสงสีรุ้ง ซึ่งมีความยาวคลื่นต่างกัน จากสั้นไปยาว ดังนี้ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง แสงสีรุ้งเหล่านี้จะหักเห สะท้อน กระจัดกระจาย และประสานกันไปมาทุกทิศทุกทาง

อนุภาคทรงกลมซิลิกาขนาดเล็ก จะเกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีคลื่นสั้น และจะเห็นพลอย เป็นสีที่มีคลื่นสั้น เท่ากัน และที่สั้นกว่า เช่น อนุภาคทรงกลมซิลิกาขนาดเล็ก ที่เกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีคลื่นสั้น เท่ากับแสงสีม่วง ก็จะเห็นพลอยเป็นสีม่วง และถ้าแสงมีคลื่นสั้น เท่ากับแสงสีคราม ก็จะเห็นพลอยมีสีคราม และม่วง

ส่วนอนุภาคทรงกลมซิลิกา ขนาดกลาง จะเกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีความยาวคลื่นขนาดกลาง และจะเห็นพลอยเป็นสี ที่มีคลื่นขนาดกลาง จะเกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีความยาวคลื่นขนาดกลาง และจะเห็นพลอยที่เป็นสี ที่มีคลื่นขนาดกลาง และที่สั้นกว่า เช่น อนุภาคทรงกลมซิลิกาขนาดกลาง จะเกิดปฏิกิริยา
   
แสง กับแสงที่มีคลื่นขนาดกลาง เท่ากับแสงสีน้ำเงิน ก็จะเห็นพลอยมีสีน้ำเงิน คราม และม่วง

และอนุภาคทรงกลมซิลิกาขนาดใหญ่ จะเกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีคลื่นยาว และจะเห็น พลอยเป็นสีที่มีคลื่นยาว เท่ากัน และที่สั้นกว่า เช่น อนุภาคทรงกลมซิลิกา ขนาดใหญ่ จะเกิดปฏิกิริยาแสง กับแสงที่มีคลื่นยาว เท่ากับแสงสีแดง ก็จะเห็นพลอยสีแดง ไล่ลงไป ถึงสีม่วง คือมีทุกสีนั่นเอง

โอปอลที่มีสีแดง ถือว่ามีคุณค่ามาก และราคาก็แพงตามไปด้วย เนื่องจากโอปอลส่วนมาก จะมีขนาดของอนุภาคทรงกลมซิลิกาขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.00025 มม.) จึงไม่ค่อยพบ โอปอลที่มีสีแดงปนอยู่ โอปอลจะมีสีแดงได้นั้น จะต้องมีขนาดของอนุภาค ทรงกลมซิลิกาประมาณ 0.0003 มม. ขึ้นไป

โอปอลมีค่า (Precious Opal)

ที่ได้ชื่อว่ามีค่า (ราคาก็แพง) นั้นก็เพราะ ประกายสี ที่โดดเด่น และสีพื้นหลัง (Background Colour หรือ Body Colour) ของพลอยแต่ละเม็ด เมื่อส่องดูใต้ดวงไฟ สีพื้นหลังที่ว่านี้ อาจเป็นสีขาวขุ่น เทาอ่อน เทาแก่ สีดำ หรืออาจไม่มีสีเลย

โอปอลกลุ่มนี้ จะเล่นสี และเกิดประกายสี ที่สะท้อน ออกมา จากตัวพลอยเอง มิได้เกิดจาก มลทินใดๆ ที่อาจปะปนอยู่ และประกายสีนี้ จะอยู่ไม่ลึก ลงไปจากผิวพลอย เท่าใดนัก (จึงไม่มีการเจียระไน เป็นเหลี่ยม) และประกายสีนั้น อาจเกิดขึ้นทั่ว ผิวหน้าพลอย หรืออาจขึ้น เป็นจุดสี

มีความวาว (Luster) ไม่สูงนัก คือ วาวคล้ายเนื้อแก้ว (Vitreous Sub-vitreous) ความแข็งค่อนข้างต่ำ ปกติจะมีความโปร่งแสง (Translucent) แต่บางครั้งอาจโปร่งใส (Transparent) ซึ่งจะทำให้มองทะลุ เห็นพื้นหลังของพลอยได้

โอปอลมีค่ายังจำแนกย่อยลงไปอีกดังนี้
  1. โอปอลดำ (Black Opal) อันที่จริงไม่ได้มีสีดำตามชื่อ แต่เมื่อนำไปส่องใต้ดวงไฟ จะเห็นพื้นหลังเป็นสีดำ บางครั้งอาจมีสีน้ำเงิน น้ำตาล หรือเทา อย่างไรก็ตาม โอปอลดำอาจมีเหล็กออกไซด์ปะปนอยู่ ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นสีดำได้เช่นกัน ส่วนเนื้อหน้าของพลอย จะมีการเล่นสี และให้ประกายสี ที่หลากหลาย ที่พบบ่อยๆ คือ เขียว น้ำเงิน แสด และเหลือง เมืองไลท์นิง ริดจ์ ใน นิวเซ้าท์เวลส์ ถือเป็นแหล่งใหญ่ ที่มีโอปอลดำอยู่มาก
  2. ไลท์โอปอล (Lignt Opal) บางครั้งอาจเรียกว่าโอปอลวุ้น (Jelly Opal) หรือโอปอลผลึก (Crystal Opal) มีสีใสหรือขาวขุ่น พบมากที่ ไวท์ คลิฟ ใน นิวเซ้าท์เวลส์ 
  3. โอปอลไฟ (Fire Opal) มีความโปร่งใส ถึงโปร่งแสง มีสีเหลืองอมน้ำผึ้ง และมีประกายสีเป็นสีแดง และเขียว ที่เรียกว่าโอปอลไฟ ก็เพราะเมื่อส่องดูใต้ดวงไฟจะเห็นลักษณะคล้ายเปลวไฟ
  4. โอปอลโบลเดอร์ (Boulder Opal) เกิดเป็นสายแร่ หรือเกิดในช่องว่างของหินทราย หรือหินดินดาน ที่มีธาตุเหล็กปนอยู่

ประกายสีของโอปอลมีค่า ยังมีลักษณะเด่น อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อใดที่พลิกโอปอลเอียงไปมา จะเห็นประกายสี ปรากฏเป็นลวดลายสีต่างๆ (Pattern of the Play of Color) ซึ่งมีดังนี้
  1. ฮาร์ลิควิน แพทเทิน (Harlequin Pattern) ลวดลายของประกาย มีลักษณะคล้ายแผ่นปะสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอ
  2. พินไฟ แพทเทิน (Pinfire Pattern) ลวดลายของประกายสี เป็นจุดสี 
  3. แฟลช แพทเทิน (Flash Pattern) ลวดลายของประกายสี จะปรากฏให้เห็น หรือหายไป หากเปลี่ยนมุมมอง หรือเมื่อหมุนพลอยไปมา
โอปอลมีค่า ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดนั้น มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของพลอยเอง และความหนาแน่นของแถบสี


  1. โซลิด โอปอล (Solid Opal) ถือว่ามีค่ามากที่สุด ถ้าเจียระไนมาจากหิน ที่มีแถบสีหนา มีลวดลายของประกายสีสม่ำเสมอ และมีสีเข้ม
  2. ดับเลิทส์ (Doublets) ประกอบขึ้นจากโอปอลมีค่า และโอปอลธรรมดารวมกัน โอปอลธรรมดา จะถูกทาไว้ด้วยสีดำ (ยางอีพอกซี) และนำชิ้นส่วนเล็กๆ ของโอปอลมีค่าติดกาวปะลงไปบนโอปอลธรรมดา ที่ใช้เป็นพื้นหลัง พื้นสีดำนั้น จะช่วยขับสีโอปอลให้เด่นชัดขึ้น
  3. ทริพเลิทส์ (Triplets) ทำขึ้นโดยปะควอทซ์ใส พลาสติกใส หรือแก้วทับลงไปบนดับเลิทส์ ชิ้นส่วนของโอปอลมีค่า ที่ใช้นี้บางกว่าที่ใช้ทำดับเลิทส์ ฉะนั้นราคาจึงถูกกว่า
โอปอลธรรมดา (Common Opal) 
มีความวาวคล้ายยางไม้ (Resinous) ส่วนใหญ่จะทึบแสง (Opaque) และไม่มีประกายสี สีที่เห็นนั้น เกิดจากมลทิน ที่ปะปนอยู่

    โอปอลธรรมดา แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
  1. ไฮยาไลท์ (Hyalite หรือ Mullers Glass) เป็นโอปอลที่ไม่มีสี ดูคล้ายเนื้อแก้ว อาจมีแต้มสีจางๆ ซึ่งอาจเป็น สีน้ำเงิน เขียว หรือ เหลือง แต่หาได้ยากมาก
  2. ไฮโดรเฟน (Hydrophane) มีลักษณะพรุน และทึบแสง แต่จะเปลี่ยนเป็นโปร่งใสได้ถ้าจุ่มลงไปในน้ำ
  3. โอปอลยางไม้ (Resin Opal) มีสีดำ หรือน้ำตาล และมีความวาวคล้ายยางไม้
  4. พอทช์ (Potch) จะทึบแสง อาจขาวขุ่น หรือมีสีเท่าอ่อน ถึงเทาแก่ เทาอมน้ำเงิน หรือดำ ส่วนสีของ แมกพายพอทช์ (Magpie Potch) จะมีลักษณะคล้ายแผ่นปะ สีขาวปนดำ และที่เป็นสีอำพัน ก็เคยพบที่เมืองไลท์นิง ริดจ์
จะประเมินค่าโอปอลอย่างไร

การประเมินค่าโอปอลถือว่ายากมาก ต้องอาศัยประสบการณ์อันช่ำชอง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเพียงพอ ที่จะประเมินค่าโอปอลได้โดยง่าย เพราะในปัจจุบัน ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวใดๆ ที่จะใช้ช่วยประเมินค่าได้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาดูสี ของโอปอล ซึ่งเป็นจุดเด่น ของพลอยประเภทนี้ คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะใช้ประเมินค่าได้
  1. สีพื้น (Body colour) โอปอลสีดำ หรือสีเข้ม จะมีค่าสูงกว่าโอปอลสีขาว หรือไลท์โอปอล
  2. ประกายสี (Play of colour) เมื่อพิจารณาจากด้านหลังของพลอย พลอยควรจะมีประกายสี โดยทั่วผิวหน้า 
  3. ลวดลายของประกายสี (Pattern of the Play of Colour) ฮาร์ลีควิน หาได้ยากที่สุด และมีคุณค่ามากที่สุด
  4. ความเข้ม และความสุกใสของประกายสี (Intensity และ Brilliance) สีรุ้งต้องสด สุกใส และคมชัด ซึ่งต้องขึ้นอยู่ กับความโปร่งใสอีกด้วย โอปอลผลึก ถือได้ว่ามีค่าสูงสุด หากพิจารณาจากคุณสมบัติข้อนี้
  5. ประกายสีรุ้ง (มีครบทุกสี) ถือว่ามีค่าสูงสุด โดยเฉพาะสีแดง หรือสีม่วง เพราะหาได้ยากเช่นกัน
ในการประเมินค่า นอกจากจะต้องดูสีแล้ว ยังต้องดูถึงขนาด และการเจียระไนด้วย ว่าดีแค่ไหน รอยแตกมีหรือไม่ ส่วนรูปร่างของพลอยไม่สลักสำคัญอะไร

หากเป็นนักอัญมณี หรือเกี่ยวข้องอยู่กับธุรกิจอัญมณีแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ น่าจะรู้ว่า โอปอลดีหนึ่ง ประเภทหนึ่งนั้น มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร โอปอลเกรด A 1 นั้น ต้องมีคุณสมบัติเป็นดังนี้ เป็นโซลิด โอปอล มีสีพื้นเข้ม มีลวดลายของประกายสี เป็นแบบฮาร์ลีควิน มีประกายส ีทั่วผิวหน้าพลอย มีความโปร่งใส และสุกใส และต้องมีสีแดงมากพอสมควร หรือมีสีม่วงอยู่ด้วย

No comments:

Post a Comment